ปลูก “ไม้ประแดก” at Ma:D Social Entrepreneurs Hub

20140824_132014

สวัสดีครับทุกท่าน ผมไม่ทราบว่าทุกท่านเคยไปปลูกข้าวมั้ย ถ้ายังไม่เคย ผมจะชวนทุกคนมาปลูกข้าวกันครับ 🙂 แต่เดี๋ยวก่อนครับ คุณไม่ต้องเตรียมแพ็คกระเป๋าไปไหนทั้งนั้น เพราะผมจะมาชวนคุณปลูกข้าวที่บ้านของคุณนั่นแหละ จะเป็นบ้านเดี่ยว หอพัก หรือคอนโดก็ปลูกได้หมดครับ

เมื่อวานนี้ผมได้ไปงานเวิร์คช็อป “ปลูก ไม้ประแดก” ซึ่งงานนี้ผู้จัดตั้งใจทำเป็นแคมเปญใหญ่เลยครับ เป็นงานที่มีแนวคิดว่า เราสามารถปลูกพืชประดับเพื่อตกแต่งบ้านก็ได้ แถมยัง “แดก” ได้ด้วยนะ! ใช่ครับ ไม้ประแดกที่ว่านี่ก็คือ “ข้าว” นี่แหละครับ

ลองนึกภาพดูสิครับว่าสิ่งที่พ่อแม่เราบอกกันนักหนาว่าให้กินข้าวให้หมดจาน หรือแม้แต่กระทั่งสิ่งผู้นำประเทศมักจะบอกกับเราอยู่เสมอว่าข้าวเป็นสมบัติของชาติ เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมาหลายร้อยปี แต่สุดท้ายคนเมืองธรรมดาอบ่างเราเห็นข้าวมันถูกแพ็คมาเป็น “ถุง” เรียบร้อยแล้ว คำถามของผมก็คือ เราจะเห็นคุณค่าของข้าวมากแค่ไหน เพียงแค่เราได้เห็นแค่ปลายทางของมัน?

20140824_134733

แคมเปญปลูกไม้ประแดกจึงคิดว่าอยากส่งมอบประสบการณ์ความเป็นชาวนาและศิลปินมาสู่คนเมือง คนที่กินข้าวทุกวันแต่กลับไม่รู้ที่มา ให้พวกเค้าได้สัมผัส ให้พวกเค้าได้รับรู้ถึงความยากลำบากของชาวนา โดยที่ไม่ต้องใช้พื้นที่มากมายเลย ขอเพียงแค่มุมหนึ่งในบ้านหรือที่ทำงานของคุณ แล้วลองดูซิว่าพื้นที่เพียงเล็กน้อย คุณจะสามารถรับผิดชอบมันได้มากแค่ไหน?

20140825_105422

แคมเปญนี้จะใช้ผลิตภัณฑ์มาเป็นตัวส่งมอบประสบการณ์ครับ ด้วยการจัดแพ็คเกจที่คุณสามารถนำไปปลูกที่บ้านได้เลย ซึ่งในหนึ่งชุดก็จะมีแผ่นพับบอกรายละเอียดและวิธีการปลูกของข้าวแต่ละสายพันธุ์ ปุ๋ยขี้ค้างคาว ไตรโคเดอมาแบบน้ำ (เชื้อราดีที่เอาไว้แช่เมล็ดข้าวเพื่อป้องกันเชื้อรา)ไตรโคเดอมาแบบผง (ผสมกับดินเพื่อป้องกันเชื้อราในดิน)ถ้วยกระดาษย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (แหล่งอนุบาลพันธุ์ข้าว) ป้ายปัก (บอกชื่อพันธุ์และวันที่เริ่มปลูก) กระถางปลูกข้าว (สูงไม่น้อยกว่า 30 cm และไม่มีรูระบายน้ำ) และสุดท้ายพระเอกของเรา เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เราคัดมากับมือ (มีให้เลือก5 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวหอมปทุมเทพ ข้าวก่ำดอ ข้าวลืมผัว ข้าวปะกาอำปิล และข้าวหอมนิล) ซึ่งวันนี้ผมก็ได้เลือกข้าวหอมปทุมเทพมาครับ

20140824_132106

แคมเปญนี้เริ่มต้นจากการคัดสายพันธุ์ข้าวครับ ซึ่งพี่เค้าบอกว่านี่คือองค์ความรู้ชุดแรกที่เกษตรกรควรจะมี (เพราะมันจะเป็นตัวกำหนดว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้าเราจะต้องกินข้าวพันธุ์ไหน) ซึ่งก็มีหลักการอยู่ว่า จมูกข้าวต้องสมบูรณ์ ไม่มีไข่ปลาซิว และหัวกับท้ายเมล็ดจะต้องตรงเสมอกัน ซึ่งเหตุผลที่ต้องคัดพันธุ์ก่อนก็เพราะว่าเราจะเลือกอดัมกับอีฟของข้าวที่จะเอามาไว้ในบ้านเรา การเลือกพันธุ์ที่ดีก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและการขยายพันธุ์มากขึ้น ขอบอกตรงๆเลยว่าแค่ขั้นตอนนี้ก็โคตรยากและใช้สมาธิมาก ใช้เวลากัน 2-3 ชั่วโมง (ในรายละเอียดมีอีกเยอะ ต้องลองเข้าเวิร์คช็อปดูครับ)

อีเวนท์ที่จัดขึ้นจบที่ขั้นตอนนี้ครับ ที่เหลือก็รอให้เหล่า “เกษตรกร” หน้าใหม่ขนชุดปลูกข้าวมินิกลับไปลองปลูกดูที่บ้าน ตั้งกลุ่มรายงานผล อีกสักอาทิตย์นึงคงได้เห็นความก้าวหน้าครับ 🙂

ก็อย่างที่เล่าไปตอนแรกครับ แคมเปญนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้คนเมืองได้สัมผัสประสบการณ์การเป็นชาวนาได้ถึงในบ้าน เพราะคนเมืองไม่ค่อยรู้ถึงแหล่งที่มาของข้าว แคมเปญนี้จึงเป็นช่องทาง “สื่อสารโดยตรง” ระหว่างผู้ปลูกกับผู้กิน ให้ผู้กินได้มองเห็นถึงคุณค่าและได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของ และอาจจะเป็นฐานนำไปสู่การสร้างระบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบการปลูกข้าวในเมืองซึ่งกันและกัน เป็นกระจกสะท้อนตัวเอง และสิ่งที่เหนือไปกว่านั้นคือเราทุกคนก็จะมีส่วนในการช่วยกันรักษาพันธุ์ข้าวดีๆที่ยังหลงเหลืออยู่ ก็อย่างที่รู้กันครับ นโยบายด้านข้าวในระดับชาติมักจะถูกผูกโยงกับเรื่องของตลาด ทำยังไงก็ได้ให้ขายได้เยอะๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ทิศทางของการผลิตข้าวก็จะถูกแปรเปลี่ยนจากคุณภาพไปสู่ปริมาณ ข้าวพันธุ์พื้นเมืองก็จะเริ่มหยุดพัฒนาสายพันธุ์และสูญหายไปในที่สุด

ประกอบกับคนรุ่นใหม่ยุคนี้แทบจะไม่มีใครสนใจไปทำงานภาคการเกษตร ในอนาคตก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าคนรุ่นใหม่อาจจะเผชิญกับวิกฤตทางด้านอาหารครั้งรุนแรงก็เป็นได้

เพราะฉะนั้น สิ่งที่แคมเปญนี้กำลังทำอยู่จึงไม่ใช่เพียงแค่ส่งมอบประสบการณ์ชิคๆคูลๆครับ แต่อาจจะไปไกลถึงการกำหนดอนาคตความมั่นคงทางอาหารของประเทศก็เป็นไปได้นะครับ นี่คงไม่ใช่เรื่องเล็กๆแล้วครับ

(ถ้าท่านไหนสนใจเข้าเวิร์คช็อป “ปลูกไม้ประแดก” ต้องอดใจรอสักนิดนะครับ ได้ข่าวแว่วๆมาว่าจะจัดกลางเดือนหน้าอีกรอบที่เอกมัย แล้วจะมาบอกข่าวอีกทีนะครับ)

Tagged , , , , , , , , , , ,

Leave a comment